ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิดแล้ว2,000ล้านโดส จีนมากที่สุด ไทยอันดับ3ของอาเซียน

44

อว. สรุปทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิดแล้ว กว่า 2,000 ล้านโดสแล้ว มากสุด-เร็วสุดในประวัติศาสตร์ 500 ล้านโดสล่าสุดใช้เวลาเพียง 17 วัน จีนฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนการฉีดทั่วโลก

วันที่ 5 มิ.ย.2564 ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก รวมกันมากกว่า 2,000 ล้านโดส ใน 197 ประเทศ/เขตปกครอง ภายในเวลาเพียงหกเดือน เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยอัตราการฉีดยังคงรวดเร็วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 500 ล้านโดสล่าสุดใช้เวลาเพียง 17 วันเท่านั้น”

เมื่อพิจารณาสถิติการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ พบว่า จีนมีจำนวนการฉีดวัคซีนมากที่สุดกว่า 704 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนการฉีดรวมกันทั่วโลก รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอินเดีย จำนวน 200-300 ล้านโดส

ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 44 ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วรวม 3.96 ล้านโดส โดยมีคนไทย 4.12% ได้วัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม และมีผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้ว 1.86% ของประชากร

ในขณะที่เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร พบว่ามี 5 ประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ได้แก่ มัลดีฟส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน อิสราเอล และชิลี ตามลำดับ

ทั่วโลกมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมกันล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 36.4 ล้านโดสต่อวัน โดยจีนฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยเกือบ 20 ล้านโดสต่อวัน สูงที่สุดในโลก รองลงมาได้แก่ สหภาพยุโรป อินเดีย และโคลอมเบีย ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านโดสต่อวัน

ทั้งนี้ มีความแตกต่างอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีนของประชากรในประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา โดยจำนวนการฉีดวัคซีนเมื่อจำแนกตามสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าประเทศที่มีรายได้สูง ฉีดวัคซีนมากกว่าประเทศรายได้ต่ำอย่างชัดเจน

ในแง่ของชนิดวัคซีนที่แต่ละประเทศใช้ พบว่ามีการใช้วัคซีนของ AstraZeneca/Oxford ในกว่า 171 ประเทศ รองลงมาได้แก่ วัคซีนของ Pfizer/BioNTech ใช้ใน 104 ประเทศ และวัคซีน Sinopharm ใช้ใน 54 ประเทศ

นอกจากนี้ ปลัด อว. ยังเผยอีกว่า “สำหรับประเทศไทย ได้ฉีดวัคซีนแล้วรวม 3,961,589 โดส โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส จำนวน 2,727,759 คน คิดเป็น 4.12% ของประชากร และมีผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้ว 1,233,830 คน คิดเป็น 1.86% ของประชากร โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 42.8 เป็นประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รองลงมาอีก 30.6% เป็นบุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข และ อสม.”

วัคซีนที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนของซิโนแวค จำนวนรวม 3,829,939 โดส (96.68% ของวัคซีนที่ฉีดทั้งหมด ) ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ใช้แล้วจำนวน 131,650 โดส (3.32%)

สำหรับประเทศในอาเซียน ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว รวมกันกว่า 55 ล้านโดส

ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2,000 ล้านโดสนี้ อว. ขอรายงาน 9 สถิติที่สำคัญ คือ

1.ระยะเวลาที่ใช้ในการฉีดวัคซีนถึง 2,000 ล้านโดส
ถึง 500 ล้านโดสแรก ใช้เวลา 107 วัน
1,000 ล้านโดส ใช้เวลาอีก 31 วัน
1,500 ล้านโดส ใช้เวลาอีก 23 วัน
และ 2,000 ล้านโดส ใช้เวลาอีกเพียง 17 วัน

2. ประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว จำนวนมากที่สุด
มี 4 ประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 200 ล้านโดส รวมกันกว่า 3 ใน 4 ของปริมาณการฉีดทั่วโลก ได้แก่
1. จีน จำนวน 704.83 ล้านโดส (35% ของจำนวนการฉีดทั่วโลก)
2. สหรัฐอเมริกา จำนวน 297.72 ล้านโดส (14.75%)
3. สหภาพยุโรป จำนวน 258.87 ล้านโดส (12.83%)
4. อินเดีย จำนวน 223.73 ล้านโดส (11.09%)

3. ประเทศที่ฉีดวัคซีน ครอบคลุมประชากรเฉลี่ยมากที่สุด
มี 5 ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากร เฉลี่ยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว (เฉพาะประเทศที่มีประชากรเกินกว่า 500,000 คน) ได้แก่
1. มัลดีฟส์ (เฉลี่ยครอบคลุมอย่างน้อย 64.6% ของประชากร) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech และ Sinopharm)
2. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (61.2%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
3. บาห์เรน (59.1%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
4. อิสราเอล (58.5%) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna)
5. ชิลี (50%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech และ Sinovac)

4. อัตราการฉีดวัคซีน เฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับแรก (เฉลี่ยล่าสุด)
1. จีน (เฉลี่ยวันละ 19.7 ล้านโดส)
2. สหภาพยุโรป (วันละ 3.5 ล้านโดส)
3. อินเดีย (วันละ 2.6 ล้านโดส)
4. โคลอมเบีย (วันละ 1.6 ล้านโดส)
5. สหรัฐอเมริกา (วันละ 1 ล้านโดส)
6. เยอรมนี (วันละ 0.8 ล้านโดส)
7. บราซิล (วันละ 0.6 ล้านโดส)
8. ญี่ปุ่น (วันละ 0.6 ล้านโดส)
9. เม็กซิโก (วันละ 0.6 ล้านโดส)
10. ฝรั่งเศส (วันละ 0.55 ล้านโดส)

5. จำนวนการฉีดวัคซีน แยกตามภูมิภาค
1. เอเชียและตะวันออกกลาง 56.82%
2. อเมริกาเหนือ 18.06%
3. ยุโรป 16.95%
4. ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 6.21%
5. แอฟริกา 1.69%
6. โอเชียเนีย 0.27%

6. ยอดการจองวัคซีนทั่วโลก รวมกันประมาณ 9,600 ล้านโดส
-ประเทศที่มียอดการจองวัคซีนจำนวนมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย
-วัคซีนที่ได้รับการจองมากที่สุด ได้แก่ วัคซีนของ AstraZeneca/Oxford
-ประเทศที่มีการจองวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากที่สุด ได้แก่ สหราชอาณาจักร

7. วัคซีนที่มีการใช้ในจำนวนประเทศมากที่สุด
1. Oxford-AstraZeneca 171 ประเทศ
2. Pfizer/BioNTech 104 ประเทศ
3. Sinopharm 54 ประเทศ
4. Moderna 49 ประเทศ
5. Gamaleya (Sputnik V) 43 ประเทศ
6. Sinovac 30 ประเทศ
7. Johnson&Johnson 24 ประเทศ
8. Bharat Biotech (Covaxin) 6 ประเทศ
9. CanSino 3 ประเทศ

8. ในภูมิภาคอาเซียน ได้ฉีดวัคซีนรวมกันแล้ว 54,942,784 โดส ได้แก่
1. อินโดนีเซีย จำนวน 28,347,058 โดส (เฉลี่ยครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 5.3% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca
2. ฟิลิปปินส์ จำนวน 5,382,172 โดส (เฉลี่ย 2.4% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Sinovac, AstraZeneca, Pfizer และ Sputnik V
3. กัมพูชา จำนวน 4,782,587 โดส (เฉลี่ย 14.1% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Sinopharm, Sinovac และ AstraZeneca
4. สิงคโปร์ จำนวน 4,047,651 โดส (เฉลี่ย 35.5% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna
5. ไทย จำนวน 3,961,589 โดส (เฉลี่ย 3.0% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca
6. มาเลเซีย จำนวน 3,330,436 โดส (เฉลี่ย 5.1% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Pfizer, Sinovac และ AstraZeneca
7. พม่า จำนวน 2,994,900 โดส (เฉลี่ย 2.8% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
8. เวียดนาม จำนวน 1,110,111 โดส (เฉลี่ย 0.6% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
9. ลาว จำนวน 933,505 โดส (เฉลี่ย 6.3% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Sinopharm และ Sputnik V
10. บรูไน จำนวน 52,775 โดส (เฉลี่ย 6% ของประชากร) โดยฉีดวัคซีนของ Sinopharm และ AstraZeneca

9. ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย (แหล่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข)
9.1 ได้จัดส่งวัคซีนแล้วจำนวน 5,008,369 โดส แบ่งเป็นวัคซีน Sinovac 4,682,349 โดส และ AstraZeneca 326,020 โดส
9.2 จำนวนการฉีดวัคซีนสะสม 3,961,589 โดส ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2564 แบ่งเป็น
– เข็มแรก 2,727,759 โดส เป็นวัคซีน Sinovac 2,607,483 โดส และ วัคซีน AstraZeneca 120,276 โดส
– เข็มที่สอง 1,233,830 โดส เป็นวัคซีน Sinovac 1,222,456 โดส และ วัคซีน AstraZeneca 11,374 โดส

หากพิจารณาจากผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จะมีจำนวน 2,727,759 คน หรือเท่ากับ 4.12% ของประชากร

9.3 สัดส่วนการฉีดวัคซีนแบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย
– ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 42.8%
– บุคลากรการแพทย์ สาธารณสุขและ อสม. 30.6%
– เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 16.1%
– บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7.3%
– ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 3.2%

แหล่งข้อมูล Bloomberg Vaccine Tracker, Covidvax, Our World in Data, The New York Times และกระทรวงสาธารณสุข

ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)