รัฐบาลพม่าเข้ายึดพื้นที่ถูกเผาของโรฮิงญา เผยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

856

การแย่งยึดที่ดิน (land grabbing) จากชาวโรฮิงญาในยะไข่มีความเป็นไปได้สูง

อ.ชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ผมเคยเขียนความเห็นกรณีการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญาว่ามีประเด็นของการที่ยะไข่อยู่ในบริบทเสรีนิยมใหม่ด้วย โดยชี้ให้เห็นว่ายะไข่ถูกวางให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของพม่า ที่มีทั้งท่อส่งก๊าซไปจีน เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผยิวว์ (Kyaukphyu) ที่ทุนจีนและทุนไทยเข้าไปลงทุน เขตเศรษฐกิจพิเศษ Kaladan multi-modal project ที่ซิตตะเวย์ ซึ่งมีการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแล้วหลังจากมีการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2012 และอินเดียมีแผนการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อที่นี่กับแคว้นมิโซรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยหวังว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะเป็นฮับทางเศรษฐกิจและเป็นรอยเท้าที่จะก้าวเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ท่ามกลางการที่จีนขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้แผน One belt one road

นอกจากนั้น บริเวณที่เป็นใจกลางของความขัดแย้งล่าสุดที่ทำให้ชาวโรฮิงญาหนีตายเข้าบังคลาเทศมากกว่า 400,000 คน คือพื้นที่ที่ทุนท้องถิ่นและทุนจากร่างกุ้งที่รวมกันเป็นสมาคมต้องการที่จะทำเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดนด้วย

ผมยังชี้ให้เห็นว่าประเด็นการลงทุนในพม่าส่วนใหญ่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้วิธีการแย่งยึดที่ดิน รวมทั้งทำสงคราม โดยยกตัวอย่าง เหมืองทองแดงของจีนในพม่า และสงครามกวางล้างชาวไทยใหญ่เพื่อจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน (เขื่อนแห่งนี้ทุนออสเตรเลีย จีน และไทย หวังจะเข้าไปลงทุน)

แต่มีเพื่อนนักข่าวชาวไทยท่านหนึ่งให้ความเห็นต่อความเห็นของผมว่า “หยาบ ไม่มีรายละเอียด” ซึ่งผมตีความสั้นๆ ว่าความเห็นของผมในสายตาของเขานั้นอาจจะไม่มีสาระเอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม หากติดตามข่าวในช่วง 2 วันนี้ มีข่าวน่าสนใจมากว่าหลังจากกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาถูกกวาดล้างแล้ว (จนถึงวันนี้มีรายงานว่าแทบจะไม่มีชาวโรฮิงญาหนีข้ามแดนไปบังคลาเทศ) เกิดอะไรตามมา

ข่าวแรก เมื่อวานนี้ รอยเตอร์/Manageronline ระบุว่า สื่อพม่ารายงานอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีของประเทศว่า รัฐบาลพม่าจะเข้าจัดการพัฒนาที่ดินของหมู่บ้านต่างๆ ที่ถูกเผาวอดจากเหตุความรุนแรงในรัฐยะไข่

ข่าวที่สอง วันนี้ เอเอฟพี/ManagerOnline ระบุว่า ต่างชาติวิเคราะห์โครงการลงทุนขนาดยักษ์ในรัฐยะไข่ อาจอยู่เบื้องหลังท่าทีจีนหนุนพม่าปราบโรฮิงญา โดยอ้างคำสัมภาษณ์โซฟี บัวส์โซ ดู รอแชร์ ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝรั่งเศส ว่าจีนมีโครงการทางเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่จำนวนหนึ่งที่ดำเนินการกับรัฐบาลพม่า

ขณะที่ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่า “ที่ดินไร้เจ้าของซึ่งเป็นผลจากการขับไล่โรฮิงญา อาจกลายเป็นประโยชน์ต่อทหาร และบทบาทของทหารในการนำการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วประเทศ ที่ดินกลายเป็นสิ่งที่มีค่าเนื่องจากโครงการของจีน”

ผมยังยืนยันว่า การกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญานอกจากมีประเด็นของการอ้างประวัติศาสตร์ อคติทางชาติพันธุ์และศาสนา รวมทั้งการก่อการร้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลพม่าและกองทัพแล้ว เรื่องของการที่ยะไข่ถูกวางให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของพม่าและมีทุนทั้งจีน อินเดีย ไทย ทุนท้องถิ่นและทุนชาติจับจ้องและจองกันเข้าไปตักตวงทรัพยากรในยะไข่-รัฐที่ผู้คนยากจนที่สุด แต่รุ่มรวยด้วยทรัพยากร ก็ควรจะพิจารณา