” คนพุทธในหมู่บ้านนี้ ถูกข่มขู่จากผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ มีถึงที่ดักซุ่มยิงจนเสียชีวิตก็มี “
ในการทำงานร่วมกับกลุ่มเอ็นวอยซ์ จากสถาบันสิทธิฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มชาวพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับชาวพุทธในส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง เสมือนดั่งทูตผู้นำสาสน์ที่เที่ยงตรงจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ตามแนวทางแห่งสันติ
สองวันที่ผ่านมานี้ อาตมาภาพได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนของพี่น้องชาวไทยพุทธทั้งที่นราธิวาส ยะลา และปัตตานี เพื่อไปเยี่ยมเยือน และรับฟังข้อมูลทั้งที่เป็นปัญหาความขัดแย้งตลอดจนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ (ทุกข์สุข) ของผู้คนที่นั่น รวมแล้วก็หลายชุมชนอยู่ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากมาก เพราะหลายเรื่อง เป็นสิ่งต้องอาศัยการบอกเล่าโดยตรงจากปากของผู้คนในพื้นที่เท่านั้น และการบอกเล่าจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความไว้วางใจตลอดจนถึงความสนิทใจที่จะพูดของคนในพื้นที่เอง
การลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน ต้องยอมรับว่า มีความแตกต่างกันอยู่มาก ทั้งในเรื่องของภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของชุมชน จำนวนประชากร (ชาวบ้าน) ที่รวมตัวกันอยู่ ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งและความรุนแรงที่ได้รับ ซึ่งในแต่ละชุมชนไม่เหมือนกันเลย เมื่อเรามาลงพื้นที่ สิ่งที่เราตระหนักรู้ได้นั่นก็คือว่า การเก็บข้อมูลและการทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ อันซับซ้อน ที่ส่งผลให้แต่ละชุมชนมีวิถีชีวิตและการจัดการกับปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก การเหมารวม เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ เมื่อต้องพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต้องยอมรับว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ชุมชนของพี่น้องไทยพุทธในจังหวัดปัตตานี ชุมชนหนึ่ง ที่เราเลือกไปเยือนเป็นสถานที่สุดท้าย ค่อนข้างจะสร้างความรู้สึกทั้งหดหู่ตกใจและหวาดระแวงให้กับอาตมาอยู่ไม่น้อย
ชุมชนที่อาตมาพูดถึงนี้ (ดูภาพประกอบ) เป็นชุมชนชาวพุทธ ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับพี่น้องมุสลิม ในตำบลตำบลหนึ่ง ของอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งในอดีตนั้น เคยมีคนพุทธอาศัยอยู่ประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน แต่ก็ยังถือว่า เป็นคนกลุ่มน้อยมาก หากเทียบกับครอบครัวของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ และชุมชนชาวพุทธอื่นๆ ที่เราเดินทางไปพบ
ที่อาตมาเขียนว่า รู้สึกทั้งหดหู่ตกใจและหวาดระแวง ก็ด้วยสาเหตุที่ว่า ในปัจจุบันนี้ ชุมชนชาวพุทธที่นี่ เหลืออยู่แค่ ๒ หลังคาเรือน ในสองหมู่บ้านเท่านั้น นอกนั้นที่เห็นรูปภาพซึ่งอาตมาถ่ายมา ล้วนแต่เป็นบ้านร้าง ซึ่งเจ้าของย้ายออกจากพื้นที่ไปหมดแล้ว
บริเวณที่ตั้งของชุมชนเป็นป่ามะพร้าวอยู่ติดกับลำคลอง บรรยาศโดยรอบ อึมครึมอย่างที่วังเวงไปด้วยป่ามะพร้าวและต้นหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด สภาพบ้านที่ถูกปล่อยให้ร้าง เพราะไม่มีคนอาศัยอยู่ ไม่ต่างจากบ้านผีสิง ที่หากเมื่อได้มาเห็นในยามค่ำคืนแล้ว คงชวนให้เกิดอาการขนลุกขนพองได้โดยไม่ต้องนัดหมาย
ที่สำคัญถนนเข้าหมู่บ้านก็เป็นถนนลูกรังแคบแคบ ซึ่งในวันที่เราเข้าไปมีเจ้าหน้าที่ทหารพราน มาคอยรักษาความปลอดภัยให้อย่างถี่ตาทีเดียว ถี่จนอาตมาสัมผัสได้ถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยในพื้นที่ที่รถของเราวิ่งผ่าน นี่ถ้าหากไม่มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลให้เลย คงสร้างความรู้สึกกลัวมากขึ้นไปอีก เพราะบรรยากาศโดยรอบ ชั่งเงียบสงัดเสียเหลือเกิน ไม่ต่างจากการหลงเข้ามาในป่า นอกจากขบวนรถตู้ของคณะเราแล้ว แทบไม่มีรถสัญจรไปมาเลย
แน่นอนว่าโยมหลายท่านคงสงสัยว่าเหตุใด ชุมชนชาวพุทธที่นี่จึงเหลืออยู่เพียงหลังคาเดียว เหตุใดชาวพุทธที่นี่จึงย้ายหนีหรือปล่อยให้บ้านเรือนของตนเองกลายเป็นบ้านร้างไปได้
คำตอบก็คงเป็นอย่างที่โยมหลายท่านคิดตรงกัน แม้ไม่ต้องอ่านที่อาตมาเขียน นั่นก็คือว่า คนพุทธในหมู่บ้านนี้ ถูกข่มขู่จากผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ มีถึงที่ดักซุ่มยิงจนเสียชีวิตก็มี มีถึงที่นำป้ายมาติดที่หน้าประตูบ้าน เพื่อให้ย้ายออกก็มี มีถึงที่หาวิธีการกลั่นแกล้งทั้งยิงบ้าน ปาหิน หาเรื่องทะเลาะ เช่นปล่อยแพะมาให้หมากัดก็มี
สิ่งที่เล่ามาอย่างย่นย่อนี้ คือสาเหตุที่ทำให้พี่น้องชาวพุทธในหมู่บ้านนี้ ตัดสินใจย้ายออก เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตของตนเองเอาไว้ ทั้งที่หลายต่อหลายคน อยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตนเอง ในแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง เราคุยกับโยมท่านหนึ่งที่ตัดสินใจย้ายออกไปเป็นคนสุดท้ายก่อนหน้านี้ เพราะถูกลอบทำร้ายแต่รอดมาได้ เขาบอกว่าหากมีการรับรองความปลอดภัย และมีอาชีพให้คนในพื้นที่ เขาก็อยากกลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเอง
นอกจากนี้ จากการสอบถามพูดคุยกับยายท่านหนึ่งอายุ ๙๓ ปี ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ ๗ ขวบท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่หมู่บ้านชาวพุทธที่นี่ยังมีคนอาศัยอยู่หลายหลังคาเรือน เรามีการชักพระจากอำเภอเข้ามาในหมู่บ้าน มีการทำบุญอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าในหมู่บ้านจะไม่มีวัดตั้งอยู่ ชาวบ้านจะไปนิมนต์พระมาจากอำเภอ ๕ รูป เพื่อประกอบศาสนกิจ ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ มีศาลาสำหรับทำบุญอยู่หลังหนึ่ง ตรงทางสามแยก มีป้าช้า มีเชิงตะกอนสำหรับเผาศพ น่าเสียดายว่า ในปัจจุบัน ศาลาถูกทิ้งร้างไปเสียแล้ว พระไม่ได้เข้ามาเยี่ยมคนในหมู่บ้าน พร้อมพร้อมกับที่คนในหมู่บ้าน หายไปทีละคนทีละคน
นี่เป็นประสบการณ์โดยตรงจากการลงพื้นที่ที่อาตมานำมาเล่าให้โยมได้อ่านกัน เพียงแค่ชุมชนเดียวเท่านั้น เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคนพุทธในสามจังหวัด ที่เขาใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ด้วยความอดทนต่อสู้อย่างคนชายขอบ ซึ่งคนอันมีความเป็นอยู่สุขสบายในเมือง แทบจะลืมนึกถึงการมีตัวตนของพวกเขากันเสียแล้ว
ในขณะที่เราพากันตะโกนเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่จะมีโน่นมีนี่ หรืออาจมีสิทธิ์ที่จะต่อรองอะไรต่อมิอะไรจากรัฐก็ได้ โปรดได้รับรู้ว่า คนที่นี่ คนพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางกลุ่ม ถูกทอดทิ้งและไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะนั่งนอนอยู่ในบ้านและผืนแผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเองอย่างสงบสุขเลย
เครดิต : พระไพรวัลย์ วรรณบุตร