เปิดเครือข่ายโกลบอลอิควาน ‘มูฮัมหมัด อาดำ’ดาโต๊ะแห่งปาเล็มบัง

1423

“มูฮัมหมัด อาดำ” เป็นมุสลิม “คุณภาพ” อีกคนหนึ่งของสังคมมุสลิม เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ เพื่อใช้อิสลามเป็นทางแนวทางในการรังสรรค์เยาวชน เพื่อรังสรรค์สังคมที่ดีงาม ได้รับการยอมรับและยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุด กษัตริย์แห่งปาเล็มบังได้มองเครื่องราชย์ ระดับดาโต๊ะ เพื่อเชิดชูความดีงาม เป็นมุสลิมคนเดียวที่ได้ดาโต๊ะจากอินโดนีเชีย

เป็นครั้งแรกที่สุลต่าลปาเล็มบังแห่งอินโดนีเชีย ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับดาโต๊ะให้กับคนไทย ดาโต๊ะมูฮัมหมัด อาดำ ประธานมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ (อิควาน ประเทศไทย) ได้รับเครื่องราชย์ฯดาโต๊ะ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558ที่ผ่านมา พร้อมกับบุคคลผู้ทรงเกียรติจากทั่วโลกจำนวน 24 คนเดินทางไปรับเครื่องราชย์

“สุลต่าลแห่งปาเล็มบัง ที่มักถูกเรียกสั้นว่า อากง มีความผูกพันกับอิควาน แพทย์ประจำตัวก็เป็นอิควาน เวลาเสด็จไปประเทศไหนก็จะใช้บริการของอิควาน อย่างไปออสเตรเลียก็ทรงใช้บริการร้านอาหารของอิควานซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ในปีนี้ผู้ได้รับเครื่องราชฯทั้งหมดเป็นอิควาน สุลต่าลแห่งปาเล็มบัง เห็นคุณค่าการทำงานของโกลบอลอิควาน ที่ทำงานช่วยเหลือสังคม และสร้างสรรค์สังคมตามหลักการอิสลาม ในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ยกเว้นด้านการเมือง เป็นคนทำงานศาสนาจริงๆ ไม่ฝักใฝ่การเมือง แต่เข้ากับการเมืองได้ทุกฝ่าย ซึ่งบุคคลที่ได้รับเครื่องราชฯดาโต๊ะ 24 คน มีผมคนเดียวจากประเทศไทย ที่เหลือเป็นมาเลเซีย อินโดนีเชีย และจาก 14 ประเทศทั่วโลก” ดาโต๊ะมูฮัมหมัด อาดำ กล่าว

สำหรับตำแหน่งสุลต่าลในอินโดนีเชีย มีหลายจังหวัดที่ยังมีตำแหน่งสุลต่าล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สืบทอดจากสุลต่าลองค์ก่อน มีอิทธิพลในจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร เป็นเพียงที่ปรึกษาของภาครัฐ
ส่วน โกลบอลอิควาน มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ในมาเลเซีย มีทั้ง 13 รัฐแห่ง มีในอินโดนีเชีย บรูไน สิงคโปร์ จีน มีในคุนหมิง ตุรกี จอร์แดน ฝรั่งเศส อียิปต์ มักกะห์ ซาอุดิอารเบีย ซิดนีย์ และที่ออสเตรเลียซึ่งกลุ่มอิควานได้ซื้อที่ดิน 200 ไร่สร้างฟาร์มแบบครบวงจร ทั้งการเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูป และร้านอาหารรูปแบบของอิควาน มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ สนับสนุนส่งเสริมด้านการศึกษา ส่งส่งเสริมการประกอบอาชีพโดยยึดหลักอิสลาม

รวมถึงการลงทุนทางธุรกิจเพื่อสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและนำกำไรมาช่วยเหลือดูแลด้านสังคม รูปแบบที่มีอยู่ทุกประเทศ คือ การมีร้านอาหารรองรับการทำงานของบุคลากรของอิควาน การฝึกฝนนักเรียนนักศึกษาด้านการประกอบอาชีพ แต่ฐานการลงทุนที่เข้มแข็งคือ ที่มาเลเซีย มีโรงงานผลิตสินค้าฮาลาลหลายแห่ง มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยม อาทิ หมี่ขาว ซึ่งดาโต๊ะมูฮัมหมัเด อาดำ เป็นคนไทยคนเดียวที่เป็น 1 ใน 12 คนของบอร์ดใหญ่โกลบอลอิควาน

“โรงงานฮาลาลของอิควานที่มาเลเซียได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียง สามารถตอบสนองความต้องการของชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนของอินวานที่ใช้หลักการดำเนินชีวิตตามหลักอิสลาม” ดาโต๊ะมูฮัมหมัดแห่งป่าเล็มบัง กล่าว

สำหรับอิควานในประเทศไทย ก่อตั้งโดยดาโต๊ะมูฮัมหมัด อาดำ โดยจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในนามมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ มีจำนวน 5 สาขา ประกอบด้วย คลอง 1 ปทุมธานี (แก้วนิมิตร) สาขาเชียงใหม่ สาขาสตูล สาขามีนบุรี และสาขาภูเก็ต มีรูปแบบการบริหารเหมือนกับโกลบอลอิควาน คือ เป็นสถานที่ดูแลเด็กกำพร้า ช่วยเหลือด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ มีร้านอาหารรองรับ รวมถึงมีรายการโทรทัศน์ด้วย ….

สำหรับดาโต๊ะมูฮัมหมัด อาดำ เกิดที่คลอง 1 แก้วนิมิต จ.ปทุมธานี เรียนหนังสือที่บ้านเกิดเมื่อตอนเยาว์วัย ก้อนไปศึกษาที่โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ รุ่นเดียวกับศ.ดร.จรัญมะลูลีม อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากนั้นได้ไปเรียนต่อด้านศาสนาที่มักกะห์และมาดีนะห์ รุ่นเดียวกับอ.อรุณ บุญชม ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ และอ.ฮากีม วันแอเลาะห์ นายกสมาคมคุรุสัมพันธ์

“ตอนไปเรียนปี 2521 ซาอุฯยังยากจนอยู่ไม่ได้ร่ำรวยน้ำมันเหมือนในขณะนี้ การเล่าเรียนยังเป็นแบบสมัยก่อน ได้เรียนที่มักกะห์ ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อที่มาดีนะห์ จนจบกลับมา” อ.มูฮัมหมัด เล่าย้อนเหตุการณ์ เมื่อ เกือบ 40 ปีก่อน

หลังกลับมาประเทศไทย อ.มูฮัมหมัด อาดำ ได้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาที่คลอง 1. ชื่อโรงเรียนอาดามียะห์ และที่ภูเก็ตชื่อโรงเรียนอิสลามพัฒนา ซี่งการเปิดโรงเรียนสอนที่ภูเก็ตมองเห็นว่า มีเด็กกำพร้ายากจนจำนวนมาก จึงได้เปิดเป็นมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ หรืออิควาน หรือมีความเป็นพี่น้องกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับกลุ่มอิควานที่อียิปต์ แต่เปิดตามอิควานของมาเลเซีย ตอนที่ผู้นำอัล อัรกอม หลบภัยอยู่ในประเทศไทยดาโต๊ะมูฮัมหมัด มีส่วนในการดูแล

“ตอนนั้น อัล อัรกอมในมาเลเซียมีการขยายตัวใหญ่มาก ทางการมาเลเซียเห็นว่าอาจจะกระทบต่อการเมือง รัฐบาลดร.มหาเดร์ มูฮัมหมัด จึงสั่งปิดและจับกุมผู้บริหาร คือนายอัซอารี มูฮัมหมัด ผู้ก่อตั้งอัลอัรกอม ได้หลบหนีมาประเทศไทย และถูกจับกุมที่จ.ลำปาง ผมก็มีส่วนในการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรศาสนาที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ตอนนั้นมีปัญหามาก เพราะการปิดโรงเรียนทำให้เด็ก 20,000 คนไม่มีที่เรียนรัฐบาลต้องหาที่เรียนใหม่ให้ แต่ต่อมาหลังการตรวจสอบก็พบว่า อัล อัรกอมไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง แต่เป็นองค์กรศาสนาที่เข้ามาดูแลสังคม ใช้หลักการศาสนามาช่วยเหลือสังคม ได้อนุญาตให้เปิดใหม่ได้ และรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ชื่ออัล อัรกอม ได้รับความเสียหายจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอิควาน” อ.มูฮัมหมัด กล่าวถึงที่มาขององค์กรอิควาน

เขา กล่าวว่า อิควานหรือมูลนิธิเพี่อภราดรภาพ เป็นองค์กรที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนที่กำพร้าและยากจน มาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาและเรียนด้านอาชีพตามที่นักเรียนมีความถนัดเพื่อออกไปสามารถประกอบอาชีพได้และใช้ชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม

“ อิควานรับเด็กที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เรียนจบหลักสูตรสายสามัญแล้ว เข้ามาเรียน ถ้าไม่จบก็จะส่งให้เรียนจนจบ และนำมาให้ให้เรียนรู้ด้านศาสนาและอาชีพ ให้เยาวชน ได้รู้หลักศาสนา ใช้ศาสนาในการดำเนินชีวิต แต่ ไม่ให้เรียนศาสนาอย่างเดียวโดยทิ้งด้านอาชีพ หรือเรียนอาชีพทิ้งศาสนา แต่จะให้เรียนควบคู่กันไป จะดูว่า แต่ละคนอ่อนแอเรื่องอะไรบ้างก็จะเสริมให้มีความรู้ คนไหนที่มีแววเป็นครูก็จะส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่โรงเรียนของเราไม่ได้ขออนุญาต ไม่มีใบสุทธิ ต้องไปฝากเรียนกับโรงเรียนอื่น 1 ปี ก็จะได้ใบสุทธิไปต่างประเทศได้ โรงเรียนจะสอนทุกอย่างเกี่ยวกับดำเนินชีวิตตามหลักการอิสลาม ผู้ชายก็จะสอนความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตพื้นฐาน สอนก่อสร้าง ไฟฟ้า ให้สามารถดูแลบ้าน ซ่อมบ้าน ซ่อมสิ่งของในบ้าน ในด้านศาสนาสามารถอ่านคุตบะห์ได้ เป็นอิหม่ามได้ เพื่อในอนาคตจะได้เป็นคนที่มีคุณภาพในการใช้ชีวิตในสังคม อย่างไรก็ตามโรงเรียนของอิควานมีขนาดเล็ก รับนักเรียนได้ไม่มากนัก ” อ.มูฮัมหมัด กล่าว

อ.มูฮัมหมัด กล่าวด้วย โรงเรียนของอิควานจะสอนหลักหลายตามความต้องการของเด็ก และความจำเป็นในการใช้ชีวิตและการเป็นผู้นำ จะสอนด้านเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต การตัดต่อโทรทัศน์ สอนการการถ่ายภาพ หลักสูตรความเป็นผู้นำ หลักสูตรการพูดในชุมชน โดยนำผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆที่มีจิตอาสามาให้ความรู้เยาวชน ซึ่งเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของอิควาน จะได้เรียนรู้ตามที่ตนถนัด

อิควานมีนบุรี จะมีสตูดิโอ เพื่อถ่ายทำรายการโทรทัศน์นำเสนอวิถีวัฒนธรรม วิถีชีวิตตามรูปแบบอิสลาม เยาวชนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพการตัดต่อก็จำถูกนำมาฝนที่นี่ ซึ่งจะมีรุ่นพี่ มีคนที่มีความชำนาญถ่ายทอด
อิควาน เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ช้างคลาน ตรงกันข้ามมัสยิดอัลฟารุก มีหอพักอยู่ด้านบน เยาวชนก็จะได้เรียนศาสนาและเรียนรู้การทำร้านอาหาร การบริหารร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง

ที่สตูล จะมีร้านไก่ทอด IFC ซึ่งเป็นร้านไก่ทอดฮาลาลที่ได้รับความนิยม ได้รับการประทับOTOP 5 ดาวจากจังหวัดสตูล เป็นร้านรองรับแขกจากต่างแดน มาใช้บริการ เป็นหน้าตาของจังหวัดสตูล ส่วนที่ภูเก็ต ตั้งอยู่ที่อ่าวมะขาม แหลมพันวา เป็นโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ เคยเสด็จเยือน เพื่อทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียน

“เด็กที่มาเรียนที่อิควาน จะพยายามไม่ให้เกี่ยวพันกับครอบครัว ไม่ให้อยู่ใกล้ครอบครัว เพราะพ่อแม่จะตามใจ เด็กก็จะใช้เวลาไม่ถูกต้องเล่นเกมดูโทรทัศน์ เด็กกรุงเทพฯก็จะให้ไปอยู่ภูเก็ต เป็นต้นและเมื่อถึงเวลามีครอบครัว ทางโรงเรียนก็จะสอบถามเด็กว่า จะเลือกคู่ครองแบบไหน ให้ครูเลือก ให้พ่อแม่เลือก หรือจะเลือกเอง ถ้าเด็กให้ครูเลือกก็จะเลือกคนที่เหมาะสมให้ ซึ่งก็เป็นคนที่อยู่ในมูลนิธิ ที่รู้จักกันดี แต่งงานแล้วก็จะจัดหางานทำให้ จัดการดูแลเรื่องสวัสดิภาพ มีลูกก็จะมีเนอสซอรี่ดูแล มีโรงเรียนอนุบาลดูแล ให้ครูได้กล่อมเกลาดูแล การจัดสรรเรื่องการทำอาชีพ เป็นที่มาว่า ทำไมเราถึงเปิดร้านอาหาร ก็เพื่อรองรับเด็กที่จบบออกไป คนเหล่านี้มีศาสนามีอาชีพ และต่อยอดการทำงานและอุดมการณ์ของมูลนิธิ” อาจารย์มูฮัมหมัด กล่าว และว่า ผู้ปกครองที่จบจากอิควาน เมื่อมีลูกก็จะส่งลูกมาอยู่กับอิควาน

“เราอยู่กันแบบครอบครัว ซึ่งเวลาเรามีกิจกรรม มีงานก็จะมีคนในครอบครัวช่วยเหลือ ตามแบบอย่างนบี(ศาสนทูต)ที่จะใช้ระบบครอบครัว เป็นพ่อตาลูกเขยกับคอลีฟะห์ ทำให้เกิดความผูกพัน ช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี อย่างผมเป็นครอบครัวใหญ่ มี 19 คน มีภรรยา 3 คน ลูก 19 คน ซึ่งทั้งหมดก็จะช่วยเหลือดูแลกันได้เป็นอย่างดี ไม่มีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะเราสอนให้เข้าใจอิสลาม สอนให้เชื่อฟังครู เวลามีกิจกรรม ก็จะมีคนช่วย ไม่งั้นต้องจ้างคน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ”

“ถ้าเรามีลูกเยอะ ดูศักยภาพการทำงานไม่ต้องพูดมาก ถ้ามีลูกเมีย มีครอบครับที่อบอุ่น สังคมก็จะสังคมให้สงบสุขได้ ทุกคนอยู่ร่วมกันกันได้ เพราะตามครู ไม่ได้ตามอารมณ์ตัวเอง เราสอนไม่ให้เอาเงินเป็นเดิมพัน ให้ใช้หัวใจรักอัลเลาะห์ เกรงกลัวอัลเลาะฮ์ คนเราหากมีอิหม่ามเวลาเจอสุขก็ขอบคุณอัลเลาะฮ์ เวลาเจอทุกข์ ก็ซอบัร ได้บุญทั้ง 2 อย่าง ทั้งหมดอยู่ที่ผู้นำ อยู่ที่สามีว่า ทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรมให้เกิดความอบอุ่น ลูกชายก็มี 2 คนอยู่ด้วยกัน ถ้าเรามีแบบอย่างที่ดี ก็เป็นไปได้ดี”ดาโต๊ะ มูฮัมหมัด อาดำ กล่าวในที่สุด

มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ ภายใต้การบริหารของดาโต๊ะมูฮัมหมัด อาดำ เป็นอีกองค์กรหนึ่งหนึ่งที่ใช้อิสลามขับเคลื่อนการดำรงชีวิต ทั้งการศึกษา การประกอบอาชีพ การอยู่ร่วมกันในสังคมโดยยึดถือตามหลักอิสลาม ซึ่งสังคมทั่วไปที่เคยชินกับระบบทุนนิยม อาจจะไม่เคยชินระบบที่อิควานใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต ซึ่งการจะดำเนินตามแนวทางนี้ได้ จะต้องมีความเข้มแข็งด้านจิตใจสูง

หมายเหตุจากนิตสาร Mtoday ฉบับเดือนกันยายน 2558

ดาโต๊ะมูฮัมหมัด อาดำ ได้กลับสู่ความเมตตาของอัลเลาะฮ์ ด้วยโรคลม เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากล้มป่วยมาเป็นเวลาหลายเดือน
ขออัลเลาะฮ์ ประทานความโปรดปราน อภัยโทษให้กับท่าน และให้ท่านได้อยู่ในสรวงสวรรค์ของพระองค์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สัมผัส Global Ikhwan องค์กรธุรกิจอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สัมภาษณ์พิเศษ CEO Global Ikwan : เดินตามยิวก็ไม่สามารถชนะยิวได้